บทบาทหน้าที่ของสื่อในสังคม
ข่าวที่ผ่านมาในรอบสัปดาห์นี่ที่เมืองไทยคงไม่มีข่าวไหนฮอทเท่ากับสองข่าวใหญ่ของคุณสนธิกับข่าวอากู๋ ข่าวเเรกนั้นเป็นเรื่องราวของรายการของคุณสนธิโดนปลดกลางอากาศข้อหาหมิ่นประมาทเบื้องสูง ส่วนข่าวที่สองเป็นที่ฮือฮาเนื่องจากบริษัทธุรกิจบันเทิงอย่างเเกรมมี่เข้าฮุบกิจการหนังสือพิมพ์มติชน ซึ่งผลตอบเเทนต่อเม็ดเงินที่ลงทุนไปจะคุ้มทุนรึเปล่าหรือมีเหตุผลเบื้องหลังที่อากู๋จำเป็นต้องซื้อกิจการหนังสือพิมพ์เพื่ออย่างอื่น ผมคงไม่ต้องบรรยายอะไรมากนักท่านๆก็คงหาข่าวอ่านได้เองตามหนังสือพิมพ์ออนไลน์ (อันนี้สำหรับเด็กนอกโดยเฉพาะ)หรือถ้าเหล่าสหายทั้งหลายอยู่ที่เมืองไทยคงได้รับอรรถรสจากสื่ออยู่หลายทาง ทั้งจากทางภาพเเละเสียง
ประเด็นที่ผมสนใจจากทั้งสองข่าวนี้ก็คือ สื่อสารมวลชนมีพลังพิเศษในการกระตุ้นต่อมรับรู้ของประชาชนอย่างเเรง ไม่ว่าจะเป็นมาจากภาพ เสียง มุมมองการเสนอข่าว ลีลาการวิเคราะห์ข่าวของตัวพิธีกรเอง ซึ่งมีอิทธิพลต่อการรับรู้เเละตัดสินใจของประชาชน (Agenda Setting)ในทางกลับกันการเสนอเนื้อหาข่าวสารต่อประชาชนทั่วๆไปนั้นก็มีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลอยู่ด้วยเหมือนกัน ดังนั้นจึงไม่เเปลกที่ผู้นำรัฐบาลจะให้ความสนใจต่อวิธีการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน ซึ่งถ้าการนำเสนอไม่เป็นที่เข้าตากรรมการของท่านผู้นำ ระดับของความไม่พอใจของท่านผู้นำก็มีได้หลายเเบบ เช่น พูดจายอกล้อเล่นๆว่าให้ข่าวบิดเบือนไปนะ มีอาการไม่พอใจไม่ให้สัมภาษณ์ชั่วคราว หรืออาจจะรุนในระดับปลดรายการออกจากผังสถานี
สำหรับตัวผมเเล้วการมีสื่อมวลชนเป็นตัวกลางระหว่างผมกับรัฐบาลเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะถ้าปราศจากสื่อแล้ว ตาผมคงบอด หูผมคงไม่ได้รับฟังข่าวสารสนเทศ ซึ่งมันต้องมีผลกระทบโดยตรงกับเราๆท่านๆเเน่นอนต่อการตัดสินใจในการวัดเเละประเมินผลงานของรัฐบาล อีกทั้งยังรับรู้ถึงนโยบายใหม่ๆ รวมไปถึงการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล
ในฐานะที่เป็นประชาชนคนหนึ่งที่ต้องการรับรู้ข่าวสารความเป็นไปของบ้านเมือง ผมนั้นก็คาดหวังว่าภาครัฐควรจะเปิดโอกาสให้สื่อได้ทำงานได้อย่างเต็มที่ โดยปราศจากการเเทรกเเซง ไม่ว่าโดยกรณีใดๆก็ตาม รัฐควรทำหน้าที่ในการกำหนดกฎเกณฑ์กติกาให้สื่อหน้าเก่าเเละสื่อหน้าใหม่ มีความเสมอภาคกัน ไม่มีการใช้อำนาจรัฐในการส่งเสริมให้สื่อรายใดรายหนึ่งมีอำนาจหรือข้อได้เปรียบเหนือกว่าผู้เเข่งขันรายอื่น ในทางกลับกันผมก็มีความคาดหวังกับสื่อสารมวลชนในการที่จะนำเสนอข่าวสารอย่างตรงไปตรงมา ทำหน้าที่ในการวิเคราะห์โดยปราศจากอคติส่วนตัว นำเสนอข่าวบนพื่นฐานของข้อเท็จจริง ไม่ใช่เเต่งเเต้มเติมสีสันข่าวเพื่อผลประโยชน์ทางด้านธุรกิจอย่างเดียว ชึ่งบทบาทพื้นฐานที่ผมคาดหวังไว้กับสื่อมีอยู่สามประการด้วยกัน คือ ทำหน้าที่ในเตือนประชาชนในประเด็นที่มีผลกระทบกับสังคมส่วนรวม (Signaler Role) ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อข่าวสารนโยบายของภาครัฐสู่สังคม (Common-Carrier Role) และสุดท้ายในการทำหน้าที่เป็นหมาเฝ้าบ้านที่ดีคอยตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ (Watch Dog Role)
ซึ่งถ้ารัฐยังทำตัวเป็นพ่อปกครองลูก อยากให้ลูกซ้ายหันขวาหัน ก็สั่งโดยไม่ได้รับฟังว่าลูกต้องการทำอะไร ผมว่ามันก็เป็นการยากที่สื่อจะสามารถทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากจะคิดอะไร จะทำอะไร ต้องทำเเละนำเสนอออกมาในรูปเเบบที่รัฐบาลต้องการเท่านั้น แล้วสังคมเราจะได้อะไรจากการที่เรามีหมาเฝ้าบ้านที่พิกลพิการ อยากเห่าก็เห่าไม่ได้เพราะเจ้าของเอาตะกร้อมาใส่ปาก
0 Comments:
Post a Comment
<< Home