Friday, August 03, 2007

เรื่องของการปิดโรงงานสิ่งทอ

พักหลังๆต้องยอมรับว่าไม่ค่อยตามข่าวเมืองไทยซักเท่าไหร่ เพราะมันเริ่มวนไปวนมาน่าเบื่อเสียเหลือเกิน เปิดหนังสือพิมพ์ออนไลน์ขึ้นมาวันใด มือขวาต้องบังคับไอ้เจ้าหนูอิเล็กโทรนิคลากๆๆๆ ลงมาหาข่าวกีฬาทันใด มันกว่าเยอะกับการไล่ล่าซื้อนักเตะก่อนเปิดฤดูกาลใหม่

เเต่มีข่าวพวกธุรกิจที่ทำให้ผมสนใจได้อยู่ข่าวนึงก็เรื่องการปิดตัวลงของโรงงานสิ่งทอในเมืองไทย ซึ่งเป็นเเหล่งผลิตสินค้ายี่ห้อดังของเยอรมัน ว่าด้วยเจ้าของกล่าวอ้างว่าได้รับภาระของการที่เงินบาทได้เเข็งค่ามานานเเล้ว กอปรกับสถานะการณ์ของค่าเงินบาทที่เเข็งค่าขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ทนรับภาระต่อไปไม่ไหว จึงจำต้องปิดตัวลงพร้อมทั้งลอยเเพพนักงานโรงงาน

ถ้ามองอย่างใจเป็นกลางท่ามกลางกระเเสทุนนิยมในยุคโลกาภิวัฒน์ ผมก็เห็นว่ามันเป็นเรื่องธรรมดามากที่การเเข่งขันทางด้านการผลิตสินค้า นายจ้างหรือเจ้าของโรงงานย่อมหาทางทำกำไรให้ได้เป็นกอบเป็นกำเป็นหลักอยู่เเล้ว เมื่อคำนวนต้นทุนการจ้างเเรงงาน อัตราดอกเบี้ยของการลงทุนระหว่างภายในประเทศกับต่างประเทศ การเก็งราคาอัตราเเลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ถ้าประเทศใดที่มีต้นทุนต่ำกว่าเเละมีสถานการณ์ทางการเมืองเเละเศรษฐกิจในระดับที่เสถียร ถึงเเม้จะมีความผันผวนบ้าง เเต่ก็อยู่ใสสภาพของการเเกว่งตัวในช่วงเเคบๆ ประเทศนั้นๆ ย่อมมีความได้เปรียบในการตัดสินใจลงทุนของนักธุรกิจ

เรื่องราวถูกทำให้ขยายโดยกลุ่มนักธุรกิจที่มีความกังวลว่า เรื่องราวอาจจะไม่จบลงเเค่โรงงานเเห่งนี้เพียงเเห่งเดียว พร้อมทั้งวอนให้ภาครัฐให้ความช่วยเหลือเป็นการด่วน ซึ่งผมก็พยายามมองด้วยใจเป็นกลางต่อไปว่าการปิดตัวของโรงงานเเห่งนี้นั้นเป็นเครื่องเตือนใจให้กับเราอย่างไรได้บ้าง

หนึ่งก็คือเมืองไทยเรายังเป็นสังคมที่ยังรออัศวินม้าขาวมาช่วยอยู่วันยังค่ำ หาได้มองกลับไปถึงต้นตอของปัญหาอย่างเเท้จริงว่าเกิดขึ้นมาด้วยเหตุผลใด เพราะถึงเเม้ค่าเเรงเราจะถูกจีน อินเดีย บังกลาเทศ เเย่งชิงความได้เปรียบไป เเต่โดยสภาพการของปัจจัยในการผลิดทางด้านอื่นเรายังพอมีความได้เปรียบอยู่ไม่มากก็น้อย เราไม่ได้มีการจัดระบบการศึกษาที่ดีพอให้กับพนักงาน ซึ่งการศึกษาในที่นี้หมายถึงความรู้ความเข้าใจในด้านการผลิต การใช้เครื่องไม้เครื่องมือการผลิตในก่อประสิทธิภาพอย่างสูงสุด ท่าเกิดอยากจะขยายคำจำกัดความของการศึกษาในเชิงอุดมคติ ผมอยากจะบอกว่าการศึกษาของเราไม่ได้มีประสิทธิภาพในการที่จะตระเตรียมให้เเรงงานพัฒนาความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับตลาดเเรงงานใหม่ๆได้ ดังเช่นที่เราได้เห็นปัญหาเดิมๆที่เมื่อกิจการใดๆปิดลง เรามักจะเห็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ หรือทางทีวี ว่าเเรงงานเหล่านั้นมักจะไม่รู้อนาคตของตนเองว่าจะไปประกอบอาชีพอะไร เเละอาจจะจบด้วยการกลับบ้านเกิดไปทำไร่ทำนา ซึ่งก็ต้องกลับไปเจอกับสภาพปัญหาของพ่อค้าคนกลาง ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นเพราะเน้นการใช้ปุ๋ยเคมี

สองการที่รัฐจะตัดสินใจทำการช่วยเหลือใดๆกับกลุ่มผู้เดือดร้อนนั้น ควรมีเเผนงานวางไว้เป็นระบบ ทั้งเเผนระยะสั้นเเละระยะยาว ในระยะสั้นเผื่อบรรเทาความทุกข์ร้อนอาจจะออกมาตรการผ่อนปรนการชำระหนี้หรืออาจจะให้ความช่วยเหลือในด้านอื่นๆ (ซึ่งวิธีการนี้ผมเห็นว่าจะเป็นการสนับสนุนให้ความคิดในการรออัศวินม้าขาวยังคงอยู่คู่กับสังคมไทยต่อไป)กับการช่วยเหลือในระยะยาวซึ่งผมได้เกริ่นไปเเล้วในข้อเเรก เราจะทำอย่างไรให้เเรงงานเรามีความรู้ความสามารถในการปรับตัวเเละใช้หาเลี้ยงชีพตัวเอง

สามคนที่เสียผลประโยชน์ในสังคมเราซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยมักจะมีปากเสียที่ตะเบงไปถึงภาครัฐอย่างสม่ำเสมอ โดยหาได้คิดคำนึงถึงคนที่เหลืออยู่ในสังคมเป็นส่วนใหญ่ว่าสังคมโดยรวมจะเสียผลประโยชน์หรือได้ประโยชน์อย่างไรกับการกระทำของกลุ่มตน คนส่วนใหญ่ต้องซื้อสินค้าชนิดเดียวกันที่เเพงขึ้นโดยใช่เหตุ หลายคนอาจจะเคยอ่านบทความเกี่ยวกับกระเทียมจีนหรือผลไม้จีนที่เข้ามาบุกตลาดเมืองไทยเราเเล้วตีตลาดเรากระจุย ท่านเหล่านั้นอาจจะไม่เห็นด้วยกับผมที่อาจจะยอมปล่อยให้เกษตรกรเหล่านั้นต้องเป็นคนตกงาน ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงผมขอให้กลับไปอ่านความในข้อหนึ่งกับข้อสองอีกครั้ง ปัญหาเกิดจากการที่เราพยายามสร้างความได้เปรียบในการผลิตโดยการที่เราไม่ได้มีความชำนาญในการผลิตสินค้านั้นๆอย่างเเท้จริง อีกทั้งถ้ารัฐหรือเอกชนได้เลือกเดินมาถูกทางเเล้วไซร้เเต่เรายังขาดตกบกพร่องในการพัฒนาเเรงงานในเชิงพลวัตเป็นสำคัญ หากเเต่ยังย่ำลงอยู่กับที่

หากท่านอ่านข้อคิดเห็นของผมเเล้วเห็นว่าช่างเลือดเย็นเหลือเกินกับคนที่ตกทุกข์ได้ยากเหลือคณา โปรดรับรู้ด้วยใจเป็นกลางว่าผมพยายามมองปัญหาที่เกิดซ้ำเเล้วซ้ำเล่าในมุมมองของผมที่ต่างออกไปจากคนอื่นก็เท่านั้นเอง

0 Comments:

Post a Comment

<< Home